วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คำกล่าวปิดงาน

กำหนดการพิธิปิดงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ครั้งที่ 6 ...Linux Empowerment

วันที่ประกาศ 11/05/

กำหนดการพิธิปิดงาน
มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ครั้งที่ 6 ...Linux Empowerment
วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547 เวลา 15.00 –16.30 น.
ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
15.00 – 15.15 น. บรรยายพิเศษเรื่อง “OSS : The Way Forward “
โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
15.15 – 15.45 น. กล่าวรายงานสรุปภาพรวมการจัดงาน
โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
15.45 – 16.15 น. กล่าวปิดและบรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทการวิจัยและพัฒนา กับโอเพนซอร์ส
โดย นายกร ทัพพะรังสี
ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
16.15 - 16.30 น. พิธีมอบโล่รางวัลแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน
โดย นายกร ทัพพะรังสี
ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คำกล่าวรายงานสรุปภาพรวมการจัดงาน
มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment
วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547
ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
กราบเรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สื่อมวลชน และผู้ร่วมงานทุกท่าน
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำหนดให้การส่งเสริม การพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทั้งในส่วนของการพัฒนาเอง และให้ทุนวิจัย เป็นภารกิจหลักที่สำคัญอันหนึ่งของศูนย์ฯ โดยมีแผนในภาพรวมคือ พัฒนาคน พัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาธุรกิจ และสร้างความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) มีผลงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ โอเพนซอร์สที่สำคัญ เช่น ลินุกซ์ทะเล ออฟฟิศทะเล รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มอาสาสมัครและผู้ใช้ลินุกซ์ในด้านต่างๆ นอกจากนั้น อีกภารกิจหนึ่งที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่ศูนย์ฯ ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การประชาสัมพันธ์ กระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และตื่นตัวในการนำโอเพนซอร์สไปใช้งาน จึงเกิดงาน มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ขึ้น ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในส่วน ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้พัฒนา ผู้ให้บริการ สื่อ และผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่อง เข้าร่วมนำเสนอและแสดงผลงานในงานนี้เป็นจำนวนมาก
งานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 6: Linux Empowerment นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณชนทั่วไป ได้รับทราบถึงประโยชน์ของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และเกิดการตื่นตัวในการนำไปใช้งานจริง อีกทั้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องจัดทำระบบข้อมูลข่าวสารในหน่วยงาน ได้พบทางเลือกใหม่ๆ ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเป็นพื้นฐาน นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ใช้และกลุ่ม ผู้พัฒนาได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริม การใช้งาน และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อให้ได้แนวทางการส่งเสริม และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่อไป
ที่ผ่านๆ มา การจัดงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ได้เน้นให้ผู้ใช้รู้จักซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยเน้นให้ผู้ใช้รับรู้ว่านอกจากซอฟต์แวร์ที่มีจำหน่ายทั่วไปในตลาดแล้วยัง มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่มีราคาประหยัดหรืออาจจะหาได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถคัดลอก แจกจ่ายได้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย อีกทั้งมีการยกตัวอย่างการนำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไปใช้งานจริงในหน่วยงานภาค รัฐและภาคเอกชน ศูนย์ฯ ได้แนะนำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่น่าสนใจ ทั้งบนระบบเซิร์ฟเวอร์และเดสก์ทอป เช่น PostgreSQL, Postnuke, Linux TLE, Office TLE, Linux SIS รวมทั้งได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน และจำหน่ายสินค้า ที่เกี่ยวกับโอเพนซอร์สมาอย่างต่อเนื่อง
การจัดงานในครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นตัวอย่างความสำเร็จ การนำไปใช้งานจริง เพื่อธุรกิจและคลีนิคช่วยเหลือผู้ใช้ Linuxโดยเฉพาะโดยแบ่งออกเป็นรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การสัมมนาเชิงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ การสัมมนาในส่วนของ Partner Forum ซึ่งจะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ของบริษัทและองค์กรต่างๆ ได้สัมผัสกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในรูปแบบต่างๆ การอบรมสำหรับกลุ่มธุรกิจ และการแสดงนิทรรศการซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีผลงานเกี่ยวกับโอเพนซอร์สจำนวนมาก มาร่วมนำเสนอผลงานได้แก่ บริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โอซ์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก รวมถึงผู้สนับสนุนร่วมจาก บริษัท แอมป์เทค เซิฟเวอร์ โซลูชั่น จำกัด, บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินเทอร์เน็ต ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เมโทร โปรเฟสชั่นนอล โปรดักส์ จำกัด, บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด , แพนด้า ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย), เอส ซี เอส ลีนุกซ์ คอมพีเทนซี เซ็นเตอร์, บริษัท เดอะ แวลู่ ซิสเต็ม จำกัด รวมไปถึงผู้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์จาก บริษัท ซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และพันธุ์ทิพย์ดอทคอม
ในส่วนของผู้เข้าชมงานตลอดสองวันที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งในส่วนของพื้นที่นิทรรศการ และห้องอบรมสัมมนา มากกว่า.................... คน โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
- กลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวน ………….. คน
- กลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ จำนวน ………….. คน
- กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านไอที จากบริษัทเอกชน จำนวน ………….. คน
- กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จำนวน ………….. คน
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ หวังว่าการจัดกิจกรรมให้ความรู้ และการแสดงนิทรรศการด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ ในครั้งนี้ จะสอดคล้องกับนโยบายและแผนงานในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการใช้ งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ในโอกาสนี้ ขอกราบเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกร ทัพพะรังสี กล่าวให้นโยบายก่อนที่จะปิดงานในวันนี้
*******************************************************************
คำกล่าวปิดงาน
มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment
วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547
ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สื่อมวลชน และผู้ร่วมงานทุกท่าน
ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอ แสดงความยินดีในความสำเร็จของการจัดงาน มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment ซึ่งเป็นงานที่มุ่งเน้นให้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดย่อม ได้รับทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์
ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกระทรวงที่มี บทบาทหลักในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยมอบหมายให้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้าน โอเพนซอร์ส รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้กันมากขึ้นด้วย
ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ฟรี ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะเกิดจากการพัฒนาโดยประชาคมขนาดใหญ่ซึ่งมาจากทั่วโลก ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ภาษา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเอกชนรายใหญ่ๆ หลายราย รวมทั้งภาคการศึกษาคือ สถาบันการศึกษาทั่วโลก ก็ร่วมสนับสนุนด้วย ส่วนความสามารถของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้น ท่านคงได้รับทราบจากวิทยากรแต่ละช่วง รวมทั้งบูธนิทรรศการด้านนอกแล้ว
ประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีหลายประการ คือ
1. ประเทศชาติ ลดการนำเข้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีเราต้องจ่ายหลายพันล้านบาทเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ ยิ่งถ้าต้องซื้อให้ครบตามจำนวนเครื่องจริงๆ จะต้องใช้เงินปีละนับหมื่น หรือแสนล้านบาท
2. ประเทศชาติได้รับเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ระดับโลก โดยลงทุนน้อยมาก ด้วยการส่งเสริมให้ศึกษาและร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้มากๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้โดยลัด เพราะเข้าไปศึกษาได้ตั้งแต่วางโครงการ การออกแบบ การเขียนโค้ดโปรแกรม การทดสอบหาข้อผิดพลาด ฯลฯ
3. คนไทยใช้ซอฟต์แวร์ในราคาถูกลง ปัจจุบัน คนไทยต้องซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่ใช้งานกันทั่วไป ในราคาแพงมาก ปีที่แล้วมีการวิจัยของต่างประเทศพบว่า เมื่อเทียบกับ GDP แล้ว โดยเฉลี่ยคนไทยต้องใช้เงินเดือน 3.59 เดือน ถึงจะซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมชุดนั้นได้ ซึ่งยังดีกว่าบางประเทศ ต้องใช้ถึง 39.76 เดือน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เพียง 0.19 เดือนเท่านั้น
ถ้าคนไทยเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จะลดต้นทุนได้มาก คือแทบไม่ต้องจ่ายเลย
4. ลดการผูกขาด ลินุกซ์และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มีผลกระทบสูงมาก จนบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ยังยอมรับว่า ลินุกซ์คือคู่แข่งที่สำคัญ ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการลดราคาซอฟต์แวร์ชุดพิเศษ สำหรับประเทศในกลุ่มที่ 3 ซึ่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งราคาลดลงมาถึง 10 เท่าเลยทีเดียว ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน
5. การวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐและภาคการศึกษา ควรสนับสนุนให้ เผยแพร่ด้วยวิธีโอเพนซอร์ส เพื่อให้ผู้อื่น รับไปพัฒนาต่อได้ ทำให้ไม่ต้องพัฒนาจากศูนย์ ในขณะเดียวกัน ก็มีกลไกที่จะคุ้มครองความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเนคเทคก็เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว
บทบาทการวิจัยและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของกระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี นี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นผู้ดำเนินการ
โดยได้เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับโอเพนซอร์สมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลงานเด่นๆ คือ
- ลินุกซ์ซิส (Linux SIS) สำหรับใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์ในโรงเรียน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการเครือข่ายโรงเรียนไทย
- ลินุกซ์ทะเล เพื่อการใช้งานบนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป หรือโน้ตบุ๊ก
- ออฟฟิศทะเล สำหรับใช้เป็นซอฟต์แวร์พื้นฐานในสำนักงาน
- พัฒนาลินุกซ์ทะเลสำหรับคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อประชาชน ในปีที่ 1 ซึ่งติดตั้งลินุกซ์ทะเลพร้อมใช้ในเครื่องถึงประมาณ 100,000 เครื่อง คิดเป็น 80% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด ส่วนในปีที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินโครงการ มี การเลือกใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ประมาณ 50%
- โครงการ School Net ผลักดันการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยจัด อบรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส 26 โรงเรียน ผลคือ มี 18 โรงเรียน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง
- สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และบริษัทเอกชนเกี่ยวกับโอเพนซอร์ส เพื่อก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย
- จัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้สนใจระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำงานได้บนลินุกซ์ โดยจัดประกวดแข่งขันติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และประกวดการพัฒนาซอฟต์แวร์บนลินุกซ์ ซึ่งจะจัดทุกปี
- สนับสนุนโครงการโรงเรียนในฝัน โดยจัดหาเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ ผู้ดูแลระบบ เพื่อให้บริการเว็บโรงเรียนต้นแบบ 921 โรง และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาลินุกซ์ซิสรุ่นใหม่ เพื่อเป็นเซิร์ฟเวอร์ต้นแบบ สำหรับใช้ในสถานศึกษาโดยเฉพาะด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอของคุณทุกท่านที่ช่วยในการจัดงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 6 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไอซ์ โซลูชั่น จำกัด หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย และอีกหลายๆ หน่วยงานที่ร่วมนำผลงานมานำเสนอในงานนี้ และขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นับจากวันนี้ไป คนไทยจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์อย่างถูกต้อง มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่หลากหลายและมีคุณภาพใช้ และใช้กันมากขึ้นต่อไป
ขอบคุณครับ

พัฒนาโดย งานบริการระบบสารสนเทศ
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2548 โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

คำกล่าวเปิดงาน

คำกล่าวเปิด

งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 เวลา 8.00 -12.45 น.

สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

โดย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

…………………………………

ท่านประธานคณะทำงานเฉพาะกิจโครงการรวมพลังอุตสาหกรรมทำดีเพื่อพ่อ องค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า (คุณณรงค์ ดวงดี) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว (คุณจงรัก แป้นเล็ก) หัวหน้ากลุ่มกิจการและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (คุณสมยศ กีรติวุฒิกุล) หัวหน้าศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ (คุณพิทักษ์ จงสัจจา) ท่านผู้ประกอบการและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธาน งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น ในครั้งนี้ การรวมพลังอุตสาหกรรมทำดีเพื่อพ่อ เป้าหมายจัดทำทะเบียนคลังโลหิต 1 ล้านคน และปลูกต้นไม้ 9 ล้านต้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นความตั้งใจ การร่วมแรงร่วมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมกันทำความดีเพื่อในหลวง

ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาและผลกระทบซึ่งเป็นกระแสที่ทุกฝ่ายต่างต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ผมจึงมีความเห็นว่า โครงการรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสประชาชน โดย เฉพาะประชาชนภาคอุตสาหกรรมจำนวนหลายล้านคน หันมาให้ความสนใจและร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้เพื่อลดปัญหาโลกร้อนกันอย่าง จริงจังมากขึ้น และผมยิ่งรู้สึกดีใจที่เห็นภาคเอกชนเสียสละเวลาในวันหยุด คือ วันแรงงาน ซึ่งถือเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของภาคเอกชน มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวันนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้รับทราบว่า โครงการ รวมพลังอุตสาหกรรม ทำดีเพื่อพ่อ หนึ่งพันอุตสาหการ หนึ่งล้านคลังโลหิต เก้าล้านต้นไม้เพื่อพ่อ ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ นักอุตสาหกรรม และเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 20 องค์กร ได้ไปรวมพลังกันกว่า 1,000 คน กล่าวคำปฏิญาณทำดีเพื่อพ่อ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา

การมารวมกันทำกิจกรรมปลูกต้นไม้และร่วมกันบริจาคโลหิตครั้งใหญ่ในวันนี้นับว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งจะต้องมีครั้งต่อๆไป โดยกำหนดนัดหมายไปปลูกต้นไม้ครั้งต่อไป ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 และมีเป้าหมายจะปลูกให้ครบจำนวน 9 ล้านต้น กับทำทะเบียนคลังโลหิต 1 ล้านคน ภายในระยะเวลา 4 ปี ความสำเร็จตามที่ตั้งใจดังกล่าว ต้องอาศัยแรงสนับสนุน ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายอีกเป็นอันมาก ครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งได้มีผู้สนับสนุนงบประมาณ สิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ครั้งต่อๆไปยังต้องการความช่วยเหลือ ความสนับสนุนเช่นนี้อีก ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายให้การสนับสนุน เลือกทำความดี ตามกำลัง ตามสถานการณ์ และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคน ต่อไป

ขอขอบคุณทุกๆฝ่าย ที่สนับสนุนให้การจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้แก่ ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมป่าไม้ที่ให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนับสนุนงบประมาณก้อนแรกเพื่อดำเนินกิจกรรม บรรดานักอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ พนักงานที่มาร่วมกิจกรรม องค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว ซึ่งอำนวยความสะดวกในฐานะเจ้าของบ้าน

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอแสดงความยินดี และขออนุโมทนาบุญกุศล คุณงามความดี ที่ท่านทั้งหลาย ได้ตั้งใจและร่วมกันกระทำในครั้งนี้และจะกระทำในครั้งต่อๆไป ขอให้การคิดดี ทำดี ของท่านทั้งหลาย ส่งผลให้ท่านทั้งหลายพร้อมทั้งครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีความสำเร็จทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว ช่วยกันสร้างสรรค์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมของเรามีความสมดุล สงบเย็นและมีสันติสุข ตลอดไป

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร ผมขอเปิดงาน รวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น บัดนี้